วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

การเกิดฟันผุในเด็กเล็ก และการแปรงฟันในเด็ก

เกร็ดความรู้ประจำเดือนมกราคม 2553

คลินิกทันตกรรมสำหรับเด็ก

เรื่อง การเกิดฟันผุในเด็กเล็ก และการแปรงฟันในเด็ก

โดย อ.ทพ.วุฒิกุล ธนากาญจนภักดี

ปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่งของระบบทันตสาธารณสุขในประเทศไทยนั่นก็คือการเกิด โรคฟันผุในเด็กปฐมวัย จะเห็นได้จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ. 2550 พบว่าเด็กไทยอายุ 3 ปีมีอัตราการเกิดโรคฟันผุในฟันน้ำนมสูงถึงร้อยละ 61.37 และเด็กไทยอายุ 5 ปีมีอัตราการเกิดฟันผุในฟันน้ำนมสูงถึงร้อยละ 80.64 ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ทางทันตสาธารณสุขทุกคนต้องร่วมมือ กันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้
การเกิดฟันผุในเด็กปฐมวัยได้มีผู้ศึกษาและให้คำจำกัดความไว้หลายชื่อ จนในปี ค.ศ. 1994 The Center for Disease Control and Prevention (CDC) ได้มีการประชุมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเสนอคำจัดกัดความเพื่อให้มีความหมายครอบคลุมการเกิดโรคในชื่อว่า Early Childhood Caries (ECC) หรือในภาษาไทยใช้คำแทนว่า “โรคฟันผุในเด็กปฐมวัย” ในปี ค.ศ. 1999 The National Institute of Dental and Craniofacial Research (NIDCR) ได้กำหนดเกณฑ์ในการวินิจฉัยเพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน โดยมีนิยาม โรคฟันผุในเด็กปฐมวัย หมายถึง การมีฟันผุชนิดที่เป็นรูผุชัดเจนและยังไม่เป็นรูผุ การสูญเสียฟันไปเนื่องจากการผุ หรือมีการบูรณะฟันในฟันน้ำนมซี่ใดๆ ตั้งแต่ 1 ด้านขึ้นไปในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 71 เดือน และใช้คำว่า โรคฟันผุรุนแรงในเด็กปฐมวัย (Severe Early Childhood Caries, S-ECC) ในกรณีที่มีรูปแบบการผุแตกต่างจากปกติ มีการลุกลามรุนแรงรวดเร็ว หรือเป็นการผุบนด้านของฟันที่ไม่พบการผุตามปกติ โดยให้คำจัดการความคือการพบฟันน้ำนมผุที่ด้านเรียบตั้งแต่ 1 ด้านขึ้นไปในกลุ่มอายุต่ำกว่า 3 ปี หรือในเด็ก 3-5 ปี มีรอยผุเป็นรูหรือสูญเสียฟันไปเนื่องจากการผุหรืออุด 1 ด้านหรือมากกว่าในฟันหน้าน้ำนมบน หรือมีค่า dmfs ≥ 4 (อายุ 3 ปี) ≥ 5 (อายุ 4 ปี) ≥ 6 (อายุ 5 ปี)
รูปแบบการผุของโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย Ripa (1988) ได้อธิบายรูปแบบการผุของการเลี้ยงด้วยนมที่ไม่เหมาะสมว่าในระยะเริ่มแรก จะพบแถบสีขาว เนื่องจากมีการละลายของแร่ธาตุออกไป ใกล้ๆ กับขอบเหงือกของฟันตัดหน้าน้ำนมบน ซึ่งผู้ปกครองอาจไม่สังเกตเห็นในระยะนี้ เมื่อโรคเป็นมากขึ้น รอยสีขาวจะเปลี่ยนไปเป็นหลุมบริเวณคอฟัน อาจพบว่ามีสีดำหรือสีน้ำตาล ในกรณีที่เป็นมาก จะมีการทำลายเนื้อฟันจนไม่เหลือตัวฟันตัดหน้าน้ำนมบนทั้ง 4 ซี่ มองเห็นเป็นเพียงตอรากฟันที่มีสีน้ำตาลดำเท่านั้น แต่ในฟันตัดน้ำนมหน้าล่างจะไม่พบการผุลักษณะนี้เกิดขึ้น เนื่องจากระหว่างการดูดนม หัวนมจะวางอยู่ชิดกับเพดานปาก ส่วนลิ้นของเด็กจะวางปกคลุมฟันหน้าน้ำนมล่าง ทำให้ของเหลวไหลอาบฟันทุกซี่ในปากยกเว้นฟันหน้าน้ำนมล่าง นอกจากนี้แล้วบริเวณดังกล่าวยังมีรูเปิดของต่อมน้ำลายใต้ลิ้นและใต้ขากรรไกร ล่าง ที่ทำให้มีน้ำลายช่วยในการชะล้างลดความเป็นกรดของคราบจุลินทรีย์ด้วย
หน้าที่ของฟันน้ำนมนอกจาก การบดเคี้ยว การออกเสียง และความสวยงามแล้ว ยังมีความสำคัญในการเป็นแนวนำทางการขึ้นให้กับหน่อฟันแท้ และยังมีความสำคัญในการเจริญเติบโตของขากรรไกรและใบหน้า เนื่องจากระยะชุดฟันน้ำนมอยู่ในช่วงที่เด็กอยู่ในวัยที่มีการเจริญเติบโต หากมีการเกิดโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยเกิดขึ้นทำให้เกิดผลกระทบหลายด้านไม่ว่าจะ เป็นพัฒนาการทางด้านร่างกายที่พบว่ากลุ่มที่เป็น ECC จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่ากลุ่มปกติ และเด็กที่มีฟันน้ำนมผุมักจะมีแนวโน้มที่ฟันถาวรจะมีการผุด้วยในอนาคต นอกจากนี้ยังมีผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจเนื่องจากการรักษาที่มักจะมีความยุ่ง ยากและความร่วมมือในการรักษาที่ต่ำ ทำให้บางครั้งอาจต้องรักษาภายใต้การดมยาสลบ
โดยแนวทางในการป้องกันการเกิดโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยนั้น American Academic of Pediatric Dentistry (AAPD revised 2008) ได้ให้วิถีทางในการดูแลไว้คือ
  • ลดเชื้อสาเหตุการเกิดโรคฟันผุในช่องปากมารดาหรือผู้เลี้ยงดู เพื่อลดโอกาสการส่งผ่านเชื้อไปยังเด็ก
  • ลดการใช้ภาชนะที่ปนเปื้อนน้ำลายร่วมกันระหว่างเด็กกับคนในครอบครัว เพื่อลดโอกาสการส่งผ่านเชื้อไปยังเด็ก
  • เพิ่มพูนคำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากก่อนฟันซี่แรกจะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเด็กหลับคาขวดนมควรได้รับการทำความสะอาดช่องปากก่อนเข้านอน แปรงฟันโดยใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สำหรับเด็กวันละสองครั้ง เริ่มใช้ไหมขัดฟันเมื่อฟันที่ขึ้นมาชิดกัน
  • ให้ dental home ภายใน 6 เดือนหลังจากฟันซี่แรกขึ้น หรืออย่างช้าเมื่อเด็กอายุ 12 เดือน เพื่อประเมินความเสี่ยงการเกิดฟันผุ และให้คำแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพช่องปาก
  • หลีกเลี่ยงการให้อาหารทางขวดนมที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ
การลดเชื้อสาเหตุในการเกิดโรคฟันผุในช่องปากโดยการแปรงฟันนั้นจะเริ่มแปรง ตั้งแต่ฟันซี่แรกของเด็กเริ่มขึ้น โดยใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สำหรับเด็กในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี จะให้ยาสีฟันเพียงเล็กน้อย ป้ายบางๆ ที่แปรงสีฟัน ส่วนเด็กที่มีอายุ 2-5 ปีจะให้ยาสีฟันขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว โดยแปรงวันละสองครั้งเช้าเย็น ซึ่งการแปรงฟันจะกระทำโดยผู้ปกครองเนื่องจากพัฒนาการในการใช้กล้ามเนื้อของ เด็กจะยังไม่ดีพอ ที่จะทำความสะอาดได้ดี ทำให้ผู้ปกครองต้องดูแลให้จนอายุประมาณ 8 ปี ในเด็กที่ยังไม่เคยทำความสะอาดช่องปากมาก่อนนั้นแรกๆ จะมีการร้องไห้และต่อต้านจากเด็กซึ่งเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อย ผู้ปกครองเองต้องแข็งใจ ทำการแปรงฟันให้ลูกให้เป็นนิสัยเหมือนการอาบน้ำ พอทำไปซักระยะเด็กก็จะยอมรับว่าเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่ง ที่ต้องปฎิบัติทุกวัน และยินยอมที่จะแปรงฟันโดยไม่ขัดขืน หากใจอ่อนไม่ยอมแปรงให้เพราะกลัวลูกร้อง โอกาสที่จะเกิดโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยก็จะสูงแน่นอน ก็จะเหมือนกับสุภาษิตที่ว่า พ่อแม่รังแกฉัน โดยการแปรงฟันสิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่า
  • เหตุใดจึงต้องแปรงฟัน เพื่อเป็นการทำความสะอาดช่องปากและฟันโดยขจัดเชื้อโรคออกไป โดยเชื้อเหล่านี้จะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบได้
  • เราแปรงอะไรออกจากฟัน การแปรงฟันไม่ใช่เพียงแค่การขจัดเศษอาหารออกไป แต่เป็นการขจัดคราบเชื้อโรค ที่ติดอยู่บริเวณตัวฟันและลิ้นออกไป โดยคราบเหล่านี้จะเห็นเป็นลักษณะสีขาวหรือสีเหลืองบนตัวฟัน
  • ทราบได้อย่างไรว่าแปรงฟันสะอาดแล้ว หากแปรงฟันสะอาดแล้วจะพบว่าฟันมีลักษณะผิวเรียบมันวาว เมื่อเอาเล็บหรือไม้จิ้มฟันขูดบนตัวฟันจะไม่พบคราบจุลินทรีย์ติดออกมา
  • หากฟันเริ่มผุจะสังเกตได้อย่างไร โดยลักษณะฟันที่เริ่มผุจะยังไม่เป็นรูสีดำ แต่จะเริ่มจากการที่เราเห็นลักษณะของผิวฟันเป็นสีขุ่นขาวเหมือนชอล์กบริเวณ ที่พบได้บ่อยคือตามขอบเหงือกของตัวฟัน (มีภาพประกอบการสอน) โดยรอยโรคเริ่มแรกเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงเป็นฟันผุที่เห็นเป็นรูก็ได้ หรือไม่เปลี่ยนแปลงเป็นฟันผุก็ได้หากมีการทำความสะอาดฟันขจัดคราบจุลินทรีย์ ได้ดี