ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
โดย แพทย์หญิงสุวิมล ชีวมงคล
( กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก)
ข้อดีของ การเลี้ยงลูกด้วย นมแม่
การเลี้ยงลูกด้วย นมแม่ ไม่ใช่เป็นเพียงการให้อาหารเพื่อให้ลูกอิ่ม และ ช่วยให้ลูกเติบโตเท่านั้น แต่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นเรื่องของกระบวนการส่งเสริมพัฒนาการ และ การเจริญเติบโตของเด็กอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเอื้อโอกาสให้เด็กกลายเป็นผู้มีบุคลิกภาพที่ดี ความเป็นผู้มีจริยธรรม อดทน อดกลั้น และ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น อันเนื่องมาจาก
๑. สารอาหารใน นมแม่ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างเหมาะสม ตามอายุลูก ซึ่งจะช่วยให้ลูกฉลาด และ แข็งแรง สารอาหารสำคัญ คือ ไขมันใน นมแม่ ที่จะไปห่อหุ้มเส้นใยประสาทในสมองเด็กที่กำลังเพิ่มการเชื่อมโยงการทำงานอย่างรวดเร็ว เพื่อให้การทำงานของสมองเด็กสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปรตีนใน นมแม่ ที่จะช่วยลดโอกาสการเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็ก สารต้านการอักเสบใน นมแม่ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ และไม่สบายของเด็ก ทำให้เด็กไม่ต้องเสียโอกาสของการพัฒนาความสามารถไปกับความเจ็บป่วย ซึ่งสารอาหารดังกล่าวทั้งหมด ไม่สามารถจะถูกทดแทนได้ด้วย นมผสม
๒. สัญชาตญาณความเป็นแม่ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มระดับของฮอร์โมนอ็อกซิโตซิน ( Oxytocin ) ในตัวแม่ขณะที่ลูกกำลังดูดนมจากอกแม่ที่จะช่วยให้แม่เป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยน เปี่ยมด้วยความรักและเมตตา อันเนื่องมาจากความรู้สึกสงบ เป็นสุข เปี่ยมด้วยความรัก ที่แม่มีต่อลูก ที่เกิดขึ้นมากกว่าปกติในตัวแม่ขณะลูกกำลังดูด นมแม่ ซึ่งเด็กจะรู้สึกได้ถึงความรู้สึกอ่อนโยน ทำให้เด็กอารมณ์ดี และ เป็นสุข
๓. กระบวนการโอบอุ้ม และ โต้ตอบ ระหว่างแม่และลูก ขณะลูกดูดนมจากอกแม่ ที่จะปูพื้นฐานสำคัญของกระบวนการเรียนรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างเหมาะสม ในเด็ก เพราะขณะที่ลูกดูดนมจากอกแม่ ลูกจะสบตาแม่ เป็นการสื่อสารสำคัญที่ถ่ายทอดผ่านการมองเห็นในระยะที่เหมาะสม เพราะช่วงแรกเกิด การมองเห็นของเด็ก จะเหมือนคนสายตาสั้น ซึ่งจะค่อยๆ เปลี่ยนระดับการมองเห็นไปเป็นระดับปกติเมื่อเด็กอายุ ๑ ปี นอกจากนี้ ขณะที่ลูกกำลังดูด นมแม่ มือลูกจะสัมผัสกับผิวแม่ จมูกลูกจะได้กลิ่นกายแม่ ลิ้นของลูกจะได้รับรส น้ำนมแม่ ร่วมกับความรู้สึกอิ่ม สบาย และ ผ่อนคลาย ขณะที่หูของลูกจะได้ยินเสียงที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว ดังนั้น ประสาทสัมผัสทุกส่วนของเด็กจะถูกกระตุ้นให้เกิดการทำงาน บนความรู้สึกดีๆที่แม่ถ่ายทอดสู่ลูก อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญ ของการสังเกต และ โต้ตอบอย่างเหมาะสมของเด็ก
ข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ได้หยุดอยู่ที่ตัวเด็ก ที่ช่วยให้เด็ก ฉลาด แข็งแรง ลดโอกาสการเป็นโรค และ มีความพร้อมต่อการพัฒนาเป็นผู้มีจริยธรรมที่ดี จิตใจอ่อนโยน และ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรง ถึงแม่ ครอบครัว สังคม และ ประเทศ กล่าวคือ แม่ จะลดโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านม ครอบครัวจะมีความสุขอันเนื่องมาจากการเป็นเด็กแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดี ไม่ต้องเปลืองเงินไปกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลูก และ การซื้อนมผสม สังคม จะเปี่ยมไปด้วยคนที่มีจิตใจดี และ มีความสามารถเต็มตามศักยภาพ ในขณะที่ประเทศมั่นคง เพราะสังคมดี และ เศรษฐกิจดี
ข้อควรรู้เมื่อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
๑. การเติบโตของเด็กกินนมแม่ จะแตกต่างจากเด็กกินนมผสม ทั้งนี้ เด็กที่ได้กินนมแม่อย่างเหมาะสม จะเติบโตเร็วในช่วงแรก โดยเฉลี่ย ประมาณ ๖ เดือน จากนั้น การเติบโตของเด็กกินนมแม่หลายคน จะช้ากว่า เด็กที่กินนมผสม อย่างไรก็ตาม ขณะที่กำลังเขียนข้อมูลนี้ กำลังอยู่ในระหว่างที่องค์การอนามัยโลก และ บุคลากรทางสาธารณสุขในประเทศไทยหลายท่านกำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาทำแผนผังการเติบโตของเด็กกินนมแม่ (Growth Chart) ซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อน (แผนผังการเติบโตของเด็กที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นแผนผังการเติบโตของเด็กที่กินนมมสม)
๒. แม่ทุกคนมีปริมานน้ำนมมากพอที่จะเลี้ยงลูก อย่ากังวลหากแม่บีบน้ำนมแม่ไม่ออกใน ๒ – ๓ วันแรกหลังคลอด เพราะในระยะนี้ น้ำนมแม่ยังมีปริมาณมากนัก แต่จะมีมากพอสำหรับลูก ขอเพียงแค่ คุณแม่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เชื่อมั่นว่าตนเองต้องมีน้ำนมพอ ทำตัวเองให้ผ่อนคลายไม่เครียด พยายามอดทนต่อความเหนื่อยที่ให้ลูกดูดนมทุก ๒- ๓ ชั่วโมง อดทนต่ออาการเจ็บหรือเสียวมดลูกขณะลูกกำลังดูดนม เพราะ ฮอร์โมนอ็อกซิโตซิน ที่ช่วยเพิ่มสัญชาตญานความเป็นแม่ จะส่งผลทำให้มดลูกหดตัวเช่นกัน
๓. เทคนิคสำคัญสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือให้ลูก ดูดเร็ว โดยให้ลูกดูดทันทีในห้องคลอด ดูดบ่อย ทุก ๒ – ๓ ชั่วโมง ดูดถูกวิธี คือปากลูกงับให้ถึงลานนม สังเกตได้จากปากลูกจะบาน คางลูกแนบหน้าอกแม่ ดั้งจมูกชิด หรือเกือบชิดหน้าอกแม่
๔. เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ๖ เดือนแรก ไม่ต้องกินน้ำ หรืออาหารอื่น เป็นข้อแนะนำของ องค์การอนามัยโลก ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ ซึ่งได้จากการรวบรวมผลวิจัยจากประเทศต่างๆ และสรุปเป็นข้อแนะนำในคู่มือการให้อาหารทารก ( Global Strategy of Infant and Young Child Feeding ) เมื่อปี ๒๕๔๖ ว่า ทารกแรกเกิดทุกคนควรได้กินนมแม่อย่างเดียวไปจนอายุครบ ๖ เดือน แล้ว จึงให้นมแม่ร่วมกับน้ำ และอาหารอื่นที่เหมาะสมตามวัย จนลูกอายุ ๒ ปี หรือ นานกว่านั้น โดยอาหารเสริมที่จัดให้ลูกควรเป็นอาหารที่ผลิตเองในครัวเรีอน สำหรับการให้นมแม่โดยไม่ให้น้ำ ซึ่งขัดแย้งกับวิธีปฏิบัติของแม่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั้น เหตุผลสำคัญที่ไม่จำเป็นต้องให้ลูกกินน้ำ คือ ในนมแม่มีน้ำเป็นจำนวนมากพอที่เด็กต้องการ และ การให้เด็กกินน้ำหลังจากกินนมแม่จะลดสารต้านการอักเสบที่มีในนมแม่ เพราะน้ำจะไปล้างสารต้านการอักเสบที่ลูกได้รับจากการกินนมแม่ที่เคลือบในปากลูกหลังจากลูกกินนมแม่
๕. ไม่จำเป็นต้องเช็ดถู ทำความสะอาดหัวนมก่อนให้ลูกดูดนมแม่ แต่ ควรจะดูว่าหัวนมตนเองมีขนาดสั้น ยาว หรือใหญ่กว่าปกติ ขณะตั้งครรภ์ เพราะหัวนมที่สั้น ยาว หรือใหญ่กว่าปกติอาจทำให้ลูกดูดนมแม่ได้ไม่ค่อยถนัด ทั้งนี้หากแม่มีความยาวหัวนมสั้นกว่าปกติ สามารแก้ไขได้ขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้ลูกดูดนมแม่ได้ง่ายหลังคลอด ( ความยาวหัวนมปกติ คือ ๐.๕ – ๑ เซนติเมตร )
๖. แม่ที่ติดเชื้อ HIV ไม่ควรให้ลูกกินนมแม่ เพื่อลดโอกาสการผ่านเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก
๗. การใช้มือบีบน้ำนมเก็บไว้ให้ลูก ดีกว่าใช้เครื่องปั๊มนม เพราะนอกจากจะสะดวก และ ประหยัดแล้ว การบีบน้ำนมด้วยมือ จะทำให้ได้ปริมาณน้ำนมที่มากกว่าการใช้เครื่องปั๊ม
๘. โดยทั่วไป แม่ที่ให้ลูกดูดนมแม่ จะมีรูปร่าง และ น้ำหนักกลับมาเป็นปกติเหมือนตอนก่อนท้อง เมื่อลูกอายุ ประมาณ ๖ เดือน ดังนั้น แม่ไม่จำเป็นต้องลดปริมาณอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก แต่หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่จะทำให้แม่อ้วนเท่านั้น
ข้อควรระวังเมื่อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
๑. การเลี้ยงลูกไม่ถูกวิธี เพราะจำกัดการโต้ตอบกับเด็กไว้เพียงการอุ้มลูกมาดูดนมแม่เท่านั้น คุณแม่มือใหม่หลายท่าน จะมีความรู้สึกเป็นห่วงกลัวลูกไม่อิ่ม ดังนั้น เมื่อลูกตื่น หรือ ร้อง จะคอยเอาลูกมาอุ้ม และ ให้กินนมแม่โดยลืมปล่อยลูกวางไว้กับเบาะเพื่อให้ฝึกคืบ หรือพลิกคว่ำพลิกหงาย รวมถึงไม่ได้ฝึกให้ลูกคว้าของ จับของ หรือ สิ่งต่างๆรอบตัว ดังนั้น ความฉลาดที่ลูกได้มาจากพ่อแม่ และ ได้เสริมจากการการกินนมแม่ เมื่อไม่ได้รับการฝึกฝน ก็จะไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพตามที่ควรจะเป็น ทำให้ดูเหมือนเด็กกินนมแม่บางคน พัฒนาการช้ากว่าปกติ
๒. หัวนมแตก ขณะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะ ท่าอุ้มไม่ถูกวิธีขณะให้ลูกดูดนม คุณแม่ที่ให้ลูกดูดนมแม่ แล้วพบว่า ต่อมา เกิดมีแผลที่หัวนม ให้ระวังว่าจะเกิดจากการให้ลูดดูดนมโดยปากลูกงับไม่ถึงลานนม ทำให้เกิดการเสียดสีของเหงือกลูก กับผิวหนังที่นมแม่ขณะที่ลูกดูดนมแม่ วิธีแก้ คือ ประคองคอลูก แล้วส่งศีรษะลูกมาให้ชิดกับหน้าอกแม่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ปากลูกงับลานนม จะช่วยลดโอกาสการมีแผลเพิ่มที่หัวนม สำหรับผิวหนังแม่ที่เป็นแผลไปแล้วนั้น รักษาโดยเอาน้ำนมแม่มาป้ายที่แผล แล้วผึ่งให้แห้ง ทำซ้ำได้เป็นระยะ จนกว่าแผลจะหาย ไม่จำเป็นต้องใช้ยาทา หรือ ยากินแก้อักเสบ
สิ่งที่ควรปฏิบัติในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
๑. การดูแลตัวเองของแม่ ทั้ง อาหารกาย อาหารใจ การดูแลตัวเองของแม่ขณะให้นมลูกเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะ ความเหนื่อย ความหิว และ ความเครียด จะทำให้การผลิตน้ำนมลดลง ดังนั้น ควรกินอาหารให้ครบ ๕ หมู่ โดยมีปริมาณอาหารที่กินแต่ละมื้อ มากกว่าปริมาณอาหารที่แม่กินก่อนท้องประมาณ ๑ เท่าครึ่ง ในกรณีที่แม่น้ำหนักตัวปกติตอนก่อนท้อง (ไม่อ้วน หรือ ผอมเกินไป ) ควรกินน้ำ โดยเฉพาะน้ำอุ่นเป็นระยะ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม โดยอาจจะดื่มน้ำ ๑ ถ้วย ก่อนมื้อที่ลูกจะดูดนมแม่ หรือ ก่อนแม่บีบน้ำนม พยายามทำจิตใจให้ผ่อนคลายไม่เครียด ด้วยวิธีที่ตนเองถนัด เช่น ฟังเพลง เป็นต้น เพื่อช่วยให้การผลิตน้ำนมแม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
๒. บีบน้ำนมแม่เก็บไว้ ทุกครั้งที่หน้าอกคัด ในกรณีที่ลูกไม่สามารถดูดนมแม่ได้ เพื่อช่วยให้เกิดการผลิตน้ำนมแม่อย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา
๓. ฝึกการให้ลูกดูดนม ทั้งท่านั่ง และ ท่านอน เพื่อช่วยให้แม่ไม่ต้องทรมานกับการนั่งให้นมลูกในช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นเวลาที่คุณแม่เองก็ง่วงเช่นกัน
๔. เอื้อโอกาสสามีเข้ามามีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูก คุณแม่หลังคลอดส่วนใหญ่ มีแนวโน้มจะกอดลูกไว้กับตัวอยู่แล้ว ดังนั้น ในกลุ่ม แม่ที่ให้ลูกกินนมแม่ จึงมีความพร้อมจะอุ้มลูกไว้กับอกตัวเองนานกว่าปกติ และ โดยธรรมชาติของเด็กที่ดูดนมแม่ระยะแรก จะนอนหลับทันทีเมื่อกินอิ่มและ ตื่นบ่อยเพราะหิว จึงควรเปิดโอกาสให้คุณพ่อเข้ามามีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกตั้งแต่แรก ด้วยการสัมผัสลูก พูดคุยกับลูก และ เล่นกับลูก เวลาที่ลูกตื่น และ รอที่จะกินมื้อใหม่ นอกจากนี้ การที่คุณพ่อเข้ามาช่วยดูแลแม่ เช่น นวดหลัง นวดคอ และ นวดไหล่แม่ เป็นต้น จะช่วยสร้างความผ่อนคลายในตัวแม่ และ พร้อมที่จะอุ้มลูกให้ดูดนมแม่อย่างไม่ย่อท้อ
ที่มา : www.nommae.org