วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทักษะทางสังคมและอารมณ์ของเด็กปฐมวัย

ทักษะทางสังคมและอารมณ์ของเด็กปฐมวัย 




ทำไมทักษะทางสังคมและอารมณ์จึงมีความสำคัญ
                เด็กที่มีทักษะทางอารมณ์และสังคมที่มั่นคงจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในโรงเรียน  และในชีวิต  นั่นคือเหตุผลที่ทำไมเราต้องช่วยพัฒนาให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตนเอง  ให้รู้จักควบคุมตนเอง และสอนให้รู้วิธีการสร้างเพื่อน
                การพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง  ความเชื่อมั่นในตนเองของเด็ก หมายถึง  การมีทัศนคติที่ดีในการใช้ชีวิต  ไม่กลัวที่จะพยายามทำสิ่งใหม่ๆ  ไม่ท้อถอยกับสิ่งที่ยากขึ้น  และมีความพยายามที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จ   เพื่อจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็ก  เราต้องวางแผนกิจกรรม  เตรียมสื่ออุปกรณ์ที่มีความท้าทาย  แต่ต้องไม่ยากจนเกินไป  เพื่อให้เด็กประสบผลสำเร็จ  เมื่อเราเห็นว่าเด็กสนใจอะไร  เราก็สนับสนุนให้เด็กได้ทดลอง  และหาคำตอบ ด้วยตนเองโดยผ่านการเล่น 
                การเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเอง เด็กที่รู้จักควบคุมตนเองจะเป็นคนที่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้  เมื่อโกรธหรือหงุดหงิดก็จะไม่แสดงออกด้วยการโวยวาย  ตะโกนเสียงดัง  แต่จะใช้การพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา  ครูที่ดีจะสอนให้เด็กรู้จักวิธีการจัดการกับอารมณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการพูดคุย  เช่น  ถ้ามีเพื่อนมาตีเขา  เขาควรจะพูดว่า ฉันไม่ชอบที่เธอตีฉัน  หยุดเดี๋ยวนี้   หรือ ถ้ามีเพื่อนมาแย่งของเล่น  เราก็จะสอนให้เขาบอกเพื่อนว่า ฉันยังเล่นของเล่นนี้อยู่  ถ้าเธออยากเล่นต้องรอให้ฉันเล่นเสร็จก่อน  
                การสร้างเพื่อน    เด็กทุกคนจำเป็นต้องมีเพื่อน  เด็กที่ไม่มีเพื่อนจะไม่มีความสุข   เขาจะรู้สึกโดดเดี่ยว  และรู้สึกว่าไม่มีใครชอบเขา  และอาจจะทำให้ไม่อยากไปโรงเรียนเมื่อเขาโตขึ้น  ครูที่ดีต้องช่วยเหลือและสอนให้เด็กรู้จักสร้างเพื่อน และรักษาเพื่อนไว้ด้วย
                เด็กๆ เรียนรู้ทักษะทางสังคมและอารมณ์จากการกระทำที่ผู้อื่นปฏิบัติต่อเขา   ตารางด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างพฤติกรรมและการสอนทักษะทางสังคมและอารมณ์



สื่งที่ครูทำ
สิ่งที่ครูพูด
เหตุผล
1. ครูนั่งลงและพูดคุยกับเด็กที่กำลังรู้สึกหงุดหงิด
ครูอยากรู้ว่าอะไรทำให้หนูหงุดหงิด บอกครูซิว่า เกิดอะไรขึ้น  ครูจะได้ช่วยหนูได้
เพื่อให้เด็กรู้ว่า เราสนใจเขา  เราเป็นห่วงเขา

2. บอกให้เด็กรู้ว่า ครูอยากเห็นพฤติกรรมเชิงบวก
อยู่ในห้องเรียนเราต้องเดิน  ถ้าหนูวิ่งหนูอาจจะหกล้มแล้วเจ็บ  ถ้าเล่นที่สนามจึงจะวิ่งได้
เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้กติกา และบอกให้ทราบว่าทำไมต้องทำตาม กติกา
3. สนับสนุนให้เด็กช่วยเหลือเพื่อน
แนนกำลังทำงานสำคัญ  เขากำลังเช็ดโต๊ะหลังจากระบายสีเสร็จ  ใครจะช่วยแนนได้บ้าง
เพื่อกระตุ้นให้เด็กช่วยเหลือเพื่อนและแบ่งความรับผิดชอบในห้องเรียน
4. สอนให้เด็กรู้จักสังเกตการแสดงอารมณ์ทางสีหน้า ท่าทาง
ดูที่หน้าของเอซิ  เธอกำลังโกรธ  มาช่วยกันหาหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น  จะได้ช่วยเธอได้
เพื่อสอนให้เด็กเรียนรู้วิธีการแสดงออกทางอารมณ์  และพัฒนาการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
5. ช่วยให้เด็กสงบและใช้คำพูดเพื่อแก้ไขปัญหา
หนูทั้งสองคนรู้สึกไม่พอใจและหงุดหงิด  หยุดทะเลาะกัน  หายใจเข้าลึกๆ  แล้วเล่าให้ครูฟังหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น  เราจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาได้
เพื่อสอนให้เด็กรู้จักวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์